ยูโด (Judo)
ยูโด (ญี่ปุ่น: 柔道; โรมาจิ: jūdō จูโด) เป็นศิลปะการป้องกันตัวประเภทหนึ่งที่ถือกำเนิดจากประเทศญี่ปุ่น โดยคะโน จิโงะโร ยูโดมีชื่อเต็มว่า โคโดกัง ยูโด เดิมเรียกว่า ยูยิสสู ซึ่งเป็นวิชาที่สามารถต่อสู้กับคู่ต่อสู้ที่มีอาวุธด้วยมือเปล่า
ประวัติยูโด
ยูยิสสู
ในประเทศญี่ปุ่นสมัยโบราณ ซึ่งเชื่อว่าตนเองเป็นลูกพระอาทิตย์ มีถิ่นที่อยู่บนเกาะใหญ่น้อยทั้งหลาย ราวๆ 3,000-4,000 เกาะ ประชากรส่วนใหญ่มีความคิดเห็นไม่ตรงกันและไม่สามารถรวมกลุ่มกันได้ ทำให้เกิดการแย่งชิงอำนาจ ผู้ที่ได้รับชัยชนะก็พยายามซ่องสุมเสริมสร้างกำลังพลให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น ผู้ที่พ่ายแพ้ก็พยายามที่จะรวบรวมสมัครพรรคพวกที่พ่ายแพ้ขึ้นใหม่เพื่อรอจังหวะช่วงชิงอำนาจกลับคืนมา ในสมัยนั้นประเทศญี่ปุ่น มีแต่การทำสงคราม นักรบของแต่ละเมืองจะได้รับการฝึกฝนศิลปะการต่อสู้ที่ใช้ในสงครามหลายชนิด เช่น การฟันดาบ การยิงธนู การใช้หอก ทวน หลาว การขี่ม้า และยูยิสสู ซึ่งเป็นการต่อสู้ที่ใช้มือเปล่าในระยะประชิดตัว ไม่สามารถที่จะใช้อาวุธได้ถนัด การต่อสู้แบบยูยิสสูมิได้มุ่งที่จะทำให้คู่ต่อสู้มีอันตรายถึงชีวิต แต่มีจุดประสงค์เพื่อให้คู่ต่อสู้ได้รับบาดเจ็บและยอมแพ้ ถ้าไม่ยอมแพ้ก็อาจทำให้พิการทุพพลภาพ โดยใช้วิธีจับมือหักข้อต่อส่วนต่างๆ ของร่างกาย
นักรบญี่ปุ่นในสมัยนั้นจะต้องฝึกการต่อสู้วิชายูยิสสูทุกคน และต้องฝึกสมาธิควบคู่ไปด้วย ทุกคนจะต้องมีความตั้งใจในการฝึก มิฉะนั้นจะเป็นอันตรายได้ การทำร้ายคู่ต่อสู้ด้วยยูยิสสูไม่คำนึงถึงความเมตตาและศีลธรรม และใช้เทคนิคคอยหาโอกาสซ้ำเติมคู่ต่อสู้ตลอดเวลา จึงทำให้อาจารย์ที่ตั้งสถานที่ฝึกอบรมวิชานี้ พยายามคิดค้นประดิษฐ์ท่าทางกลวิธีแตกต่างกันออกไปอย่างอิสระ สถานที่เปิดฝึกสอนหรือที่เรียกว่าโรงเรียนสำหรับสอนวิชายิวยิตสูสมัยนั้นมีประมาณ 20 แห่ง
ส่วนการต่อสู้อีกประเภทหนึ่งซึ่งเกี่ยวข้องกับการพัฒนาวิชายูโดคือ ซูโม่ ซึ่งเป็นกีฬาอีกประเภทหนึ่งของญี่ปุ่นที่เป็นที่นิยมแพร่หลาย ซูโม่เป็นการต่อสู้ของคน 2 คน ใช้มือเปล่าและกำลังกายเข้าทำการต่อสู้กันมาแต่สมัยโบราณกว่า 2,500 ปีมาแล้ว นักประวัติศาสตร์ในวิชายิวยิตสูได้สนใจซูโม่มาก จากหนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น ที่รวบรวมขึ้นภายใต้พระบรมราชโองการของพระจักรพรรดิ ชื่อ “นิฮงโชะกิ” ในปี พ.ศ. 1263 กล่าวถึงการแข่งขันในสมัยของจักรพรรด์ซุยนิน ก่อนคริสต์ศักราช 230 ปี (พ.ศ. 313) ยืนยันว่าเป็นการเริ่มต้นของวิชาซูโม่ ซึ่งแปลว่าการต่อสู้โดยใช้กำลังเข้าประลองกัน การต่อสู้ตามหลักวิชาซูโม่ บางท่าจะตรงกับวิชายิวยิตสู เช่น การใช้สะโพกเป็นกำลังบังคับขากวาดเหวี่ยงคู่ต่อสู้ให้เสียหลักล้มลงซึ่งท่านี้วิชายูยิสสูเรียกว่า ฮาราย กุชิ (Harai Goshi) เป็นการยืนยันว่าวิชาซูโม่มีความสัมพันธ์กับวิชายิวยิตสู
การพัฒนาวิชายิวยิตสูเป็นวิชายูโด
ในตอนปลายยุคเซ็งโงะกุ วิชายิวยิตสูได้มีการรวบรวมไว้เป็นแบบแผน ต่อมาเมื่อ ตระกูลโทะกุงะวะ ได้ทำการปราบเจ้าแคว้นต่างๆ ให้สงบลงอย่างราบคาบและตั้งตนเป็นโชกุน ปกครองประเทศญี่ปุ่น ได้มีการปรับปรุงวิชาการรบของพวกซะมุไร นอกจากวิชาการรบแล้ว ซะมุไรต้องเรียนหนังสือเพื่อศึกษาวิชาการปกครอง การอบรมจิตใจให้มีศีลธรรม ยิวยิตสูเป็นวิชาป้องกันตัวชนิดหนึ่งในสมัยนั้น จึงต้องมีการปรับปรุงวิธีการต่อสู้จากการไร้ศีลธรรมมาเป็นการป้องกัน การต่อสู้ด้วยกำลังกาย และกำลังใจอันประกอบด้วยคุณธรรม มีจรรยามารยาทที่สุภาพเรียบร้อยขึ้น เพื่อให้เหมาะสมกับคำว่า ยิวยิตสู ซึ่งหมายความถึง ศิลปะแห่งความสุภาพ
เมื่อมีการปรับปรุงบทบัญญัติทางศีลธรรมของนักรบให้รัดกุมนี้เอง ทำให้ช่วง 50 ปีของสมัยกาไน บันจิ และคันม่ง (Kanei Banji and Kanmon พ.ศ. 2167-2216) ได้มีผู้เชี่ยวชาญวิชายิวยิตสูขึ้นมามากมาย โดยมีวิชาที่เป็นแนวเดียวกับยิวยิตสู แต่ใช้ชื่อต่างกันจำนวนมาก เช่น ไทจุสึ, วะจุสึ, โคะงุโซะกุ หรือ เค็มโปะ เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดเป็นการต่อสู้ที่ทำให้คู่ต่อสู้พ่ายแพ้โดยใช้มือเปล่า ทำให้วิชายิวยิตสูเป็นที่นิยมมาตลอดสมัยโทะกุงะวะ
ต่อมาในยุคเมจิ ญี่ปุ่นได้รับอารยธรรมตะวันตกเข้าสู่ประเทศญี่ปุ่น ทำให้วัฒนธรรมประเพณีของญี่ปุ่นหลายอย่างกลายมาเป็นสิ่งล้าสมัยของต่างชาติ และชาวญี่ปุ่นสมัยใหม่ ดังนั้น ในปี พ.ศ. 2414 จึงได้ออกกฎหมายห้ามนักรบใช้ซะมุไรเป็นอาวุธ ห้ามพกหรือสะพายดาบซะมุไร ยิวยิตสูซึ่งเป็นวิชาที่นิยมเล่นกับซะมุไร จึงถูกมองว่าเป็นสิ่งล้าสมัย เพราะทารุณ ป่าเถื่อน ฉะนั้นวิชายิวยิตสูจึงได้รับการปรับปรุงและแก้ไขพร้อมกันหลายอย่างในยุคเมจิ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ศิลปะการต่อสู้นานาชนิดรวมทั้งยิวยิตสูต้องซบเซาลง สถาบันที่เปิดฝึกสอนยิวยิตสู ซึ่งมีอยู่แพร่หลายได้รับกระทบกระเทือนถึงกับเลิกกิจการไปเป็นอันมาก
การกำเนิดวิชายูโด
หลังจากที่ญี่ปุ่นปฏิวัติวัฒนธรรมในยุคเมจิ ทำให้วิชายิวยิตสูเสื่อมความนิยมลงจนหมด ต่อมาเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2403 ชาวญี่ปุ่นชื่อ คะโน จิโงะโร ชาวเมืองชิโรโกะซึ่งได้อพยพครอบครัวมาอยู่ในกรุงโตเกียว เมื่อปี พ.ศ. 2414 ขณะเมื่ออายุ 18 ปี ได้เข้าทำการศึกษาที่มหาวิทยาลัยโตเกียว ในสาขาปรัชญาศาสตร์ จนสำเร็จการศึกษา เมื่ออายุ 23 ปี ท่านคะโน จิโงะโร เป็นมีความเห็นว่าวิชายิวยิตสูนอกจากจะเป็นกีฬาสำหรับร่างกายและจิตใจแล้ว ยังมีหลักปรัชญาที่ว่าด้วยหลักแห่งความเป็นจริง
เมื่อท่านคะโน จิโงะโรได้ศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับวิชายิวยิตสูอย่างละเอียดแล้วก็พบว่าผู้ฝึกวิชายิวยิตสูจนมีความชำนาญดีแล้ว จะสามารถสู้กับคนที่รูปร่างใหญ่โตได้ หรือสู้กับคนที่มีอาวุธด้วยมือเปล่าได้ จากการค้นพบทำให้บังเกิดความศรัทธาอย่างแรงกล้า ท่านจึงได้เข้าศึกษายิวยิตสูอย่างจริงจังจากอาจารย์ผู้สอนวิชายิวยิตสูหลายท่านจากโรงเรียนเท็นจิ ชินโย และโรงเรียนคิโตะ ในปี พ.ศ. 2425 ท่านคะโน จิโงะโร อายุได้ 29 ปี ได้ก่อตั้งโรงเรียนสำหรับวิชายูโดขึ้นเป็นครั้งแรกในบริเวณวัดพุทธศาสนา ชื่อวัดเอโชะจิ โดยตั้งชื่อสถาบันนี้ว่า “โคโดกัง ยูโด” โดยได้นำเอาศิลปะของการต่อสู้ด้วยการทุ่มจากสำนักเทนจิ ซิโย และการต่อสู้จากสำนักคิโตเข้ามาผสมผสานเป็นวิชายูโดและได้ปรับปรุงวิธีการยูโดให้เหมาะสม สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงในระบอบการปกครองและสังคมในขณะนั้น ได้สอดแทรกวิทยาศาสตร์ใหม่ๆ คณิตศาสตร์ประยุกต์ที่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหว จิตศาสตร์ และจริยศาสตร์เข้าด้วยกัน โดยได้ตัดทอนยิวยิตสู ซึ่งไม่เหมาะสมออก แล้วพยายามรวบรวมวิชายิวยิตสูให้เป็นหมวดหมู่มีมาตรฐานเดียวกันตามความคิดของท่าน และได้ตั้งระบบใหม่เรียกว่า ยูโด (Judo)
ในยุคแรก ท่านคะโน จิโงะโร ต้องต่อสู้กับบุคคลหลายๆ ฝ่ายเพื่อให้เกิดการยอมรับในวิชายูโด โดยเฉพาะจากบุคคลที่นิยมอารยธรรมตะวันตก บุคคลพวกนี้ไม่ยอมรับว่ายูโดดีกว่ายิวยิตสู จนในปี พ.ศ. 2429 กรมตำรวจญี่ปุ่นได้จัดการแข่งขันระหว่างยูโดกับยิวยิตสูขึ้น โดยแบ่งเป็นฝ่ายละ 15 คน ผลการแข่งขันปรากฏว่ายูโดชนะ 13 คน เสมอ 2 คน เมื่อผลปรากฏเช่นนี้ ทำให้ประชาชนเริ่มสนใจยูโดมากขึ้น ทำให้สถานที่สอนเดิมคับแคบจึงต้องมีการขยายห้องเรียน เพื่อต้อนรับผู้ที่สนใจ จนถึงปี พ.ศ. 2476 จึงได้ย้ายสถานที่ฝึกไปที่ซูอิโดบาชิ (Suidobashi) และสถานที่นี้ในที่สุดก็เป็นศูนย์กลางของนักยูโดของโลกในปัจจุบัน
ในปี พ.ศ. 2455 ได้ก่อตั้งสหพันธ์ยูโดระหว่างประเทศขึ้น โดยมีประเทศต่างๆ ที่ร่วมก่อตั้งครั้งแรกประมาณ 20 ประเทศ และได้มีการตั้ง The Kodokun Cultural Society ในปี พ.ศ. 2465 ขึ้นหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2499 สหพันธ์ยูโดระหว่างชาติได้จัดให้มีการแข่งขันเพื่อความชนะเลิศยูโดระหว่างชาติขึ้น โดยอยู่ในการอำนวยการของสหพันธ์ยูโดระหว่างประเทศโคโดกัง และหนังสือพิมพ์อาซาฮิเมารุ (Asahi Shinbun) โดยผู้ชนะในแต่ละประเทศจะได้รับสิทธิ์ในการแข่งขันกับผู้ชนะในประเทศอื่น ทำให้ยูโดกลายเป็นกีฬามีเสถียรภาพระหว่างชาติได้และเป็นการสนับสนุนให้กีฬายูโดเจริญรุ่งเรืองมากขึ้นในระดับโลก
ลำดับเหตุการณ์
- พ.ศ. 2425 คะโน จิโงะโร ก่อตั้งสถาบันโคโดกัง สำหรับใช้ฝึกอบรมวิชายูโดที่ศาลาในบริเวณวัด เออิโซ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่นเมื่อเดือนมิถุนายน
- พ.ศ. 2429 ตำรวจนครบาลแห่งโตเกียว จัดการแข่งขันระหว่างนักยูโดของโคโดกัง และนัก ยิวยิตสูของสำนักต่างๆ จากการแข่งขัน 15 ครั้ง นักยูโดของสำนักโคโดกัง ชนะถึง 13 ครั้ง จึงทำให้ยูโดของโคโดกังได้รับการรับรองว่ามีประสิทธิภาพมากกว่ายิวยิตสูของสำนักอื่นๆ
- พ.ศ. 2436 ย้ายสำนักโคโดกัง จากวัดเออิโซ ไปตั้งที่ ซิโมโทมิกาซา
- พ.ศ. 2476 ย้ายจาก ซิโมโทมิกาซา ไปตั้งที่ถนนซุยโดมัดซีในกรุงโตเกียว
- พ.ศ. 2485 ก่อตั้งสหพันธ์ยูโด (Judo Federation)
- พ.ศ. 2499 ก่อตั้งสหพันธ์ยูโดระหว่างชาติ
- จัดการแข่งขันเพื่อความชนะเลิศยูโดระหว่างประเทศขึ้นเป็นครั้งแรก
- สร้างภาพยนตร์เรื่อง Master of judo
วิชายูโด
คะโน จิโงะโร พบว่าวิชายิวยิตสูแบบดั้งเดิมนั้นไม่สามารถที่จะฝึกอย่างเต็มกำลังได้เนื่องเพราะว่าเทคนิคอันตรายต่างๆ เช่น การจิ้มตา การเตะหว่างขา การดึงผม และอื่นๆ อาจทำให้คู่ฝึกซ้อมบาดเจ็บสาหัสจากการฝึกได้ รวมทั้งการฝึกที่เรียกว่า กะตะ (การฝึกแบบเข้าคู่โดยทั้งสองฝ่ายรู้กันและฝึกตามท่าโดยที่ไม่มีการขัดขืนกัน) แต่เพียงอย่างเดียวก็ยังไม่ได้ประสิทธิภาพที่เพียงพอ เพราะเราจะไม่สามารถคาดหวังได้ว่าศัตรูของเราจะให้ความร่วมมือในท่าที่เราฝึกมาโดยที่ไม่มีการขัดขืน
ท่านจึงปรับปรุงการฝึกส่วนใหญ่ในโรงเรียนของท่านให้เป็นแบบ รันโดริ (RANDORI) คือการฝึกซ้อมแบบจริง โดยใช้แนวความคิดว่า นักเรียนสองคนใช้เทคนิคต่างๆที่ตนเรียนรู้เพื่อการเอาชนะอย่างเต็มกำลัง ทั้งนี้นักเรียนจะคุ้นเคยกับความรู้สึกต่อต้าน ขัดขืนจากคู่ต่อสู้ การฝึกแบบนี้นักเรียนจะสามารถพัฒนา ร่างกาย จิตใจและความคล่องตัวได้ดีกว่า เพื่อทำให้การฝึกซ้อมแบบรันโดริมีประสิทธิภาพมากขึ้น ท่าน คะโน จิโงะโร่ จำเป็นต้องเอาเทคนิครุนแรงที่ก่อให้เกิดอันตรายบางส่วนเช่น การชก เตะ หัวโขก ในจูจิสสุออกไป การล็อกสามารถกระทำได้เพียงแค่ข้อศอก ซึ่งปลอดภัยกว่าการล็อกสันหลัง คอ ข้อมือ หรือหัวไหล่ เขาเรียกการฝึกซ้อมแบบนี้ว่า “ยูโด“
ยูโดในปัจจุบันเป็นกีฬาสากลประเภทบุคคล มีหลักการและวัตถุประสงค์คือ มุ่งบริหารร่างกายและจิตใจให้มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยใช้แรงให้น้อยที่สุด เพื่อสวัสดิภาพและประโยชน์สุขร่วมกัน การฝึกยูโดต้องมีการฝึกการต่อสู้และป้องกันตัว ก็เพื่อให้ผู้เข้ารับการฝึกได้ออกแรง ซึ่งเป็นหนทางก่อให้เกิดสมรรถภาพทางกายตามอุดมคติของท่านคะโน จิโงะโร ผู้ให้กำเนิดกีฬาประเภทนี้ว่า “Maximum Efficiency with minimum Effort and Mutual Welfare and Benefit” คือยูโดใช้วิธีการโอนอ่อนผ่อนตาม หรือที่เรียกว่า “ทางแห่งความสุภาพ” “Gentleness or soft way” ทำให้ได้เปรียบแก่ผู้ที่มีกำลังมากกว่าเป็นวิธีการที่ทำให้คนตัวเล็กกว่าน้ำหนักน้อยกว่าและกำลังด้อยกว่า สามารถต่อสู้กับผู้ที่อยู่ในลักษณะเหนือกว่าได้
เทคนิคของวิชายูโด
เทคนิคของวิชายูโดแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่มดังนี้
- นาเงวาซา (Nagewaza)เป็นเทคนิคเกี่ยวกับการทุ่ม มีท่าทุ่มที่เป็นพื้นฐานอยู่ 12 ท่า และแยกออกเป็นประเภทตามส่วนของร่างกายที่ใช้ทุ่มนั้นๆซึ่งได้แก่การทุ่มด้วยมือ การทุ่มด้วยสะโพก การปัดขา การทุ่มด้วยไหล่ การทุ่มด้วยสีข้างและหลัง
- กะตะเมวาซา (Katamawaza) เป็นเทคนิคเกี่ยวกับการกอดรัดเพื่อให้หายใจไม่ออก การจับยึดและการล็อกข้อต่อ เป็นเทคนิคที่ใช้ขณะอยู่กับพื้นเบาะ (tatami) เพื่อให้คู่ต้อสู้ยอมจำนน กะตะเมะวาซายังสามารถแยกย่อยออกได้อีก 3 ประเภท คือ โอไซโคมิวาซา (Osaekomiwaza) ซึ่งเป็นเทคนิคเกี่ยวกับการกดล็อกบนพื้น ชิเมวาซา (Shimewaza) ซึ่งเป็นเทคนิคการรัดคอหรือหลอดลม และคันเซทสึวาซา (Kansetsuwaza) ที่เป็นเทคนิคในการหักล็อกข้อต่อให้คู่ต่อสู้ยอมจำนน
- อาเตมิวาซา (Atemiwaza) เป็นเทคนิคเกี่ยวกับการชกต่อย ทุบตี ถีบถอง ส่วนต่างๆของร่างกายให้เกิดการบาดเจ็บ พิการ หรือถึงแก่ชีวิต ซึ่งวิธีการเหล่านี้จะใช้ในการต่อสู้ป้องกันตัวเท่านั้น และไม่เคยจัดการแข่งขัน
ระดับความสามารถของนักยูโด
ระดับความสามารถมาตรฐานของนักยูโดทั้งสองเพศ (ชาย-หญิง) ได้ถูกกำหนดขึ้นโดยมีสีของสายคาดเอวเป็นเครื่องหมาย ระดับความสามารถมาตรฐานดังกล่าวแบ่งออกได้เป็น 2 ระดับใหญ่ คือ
- ระดับคิว (Kyu) คือระดับก่อนสายดำที่อาจเรียกว่า นักเรียน
- ระดับดั้ง (Dan) คือระดับที่เรียกว่า ผู้นำ เป็นผู้ซึ่งมีความสามารถสูง ทั้งระดับนักเรียนและระดับผู้นำนี้ยังแบ่งออกเป็นระดับย่อยๆลงอีก โดยมีสีประจำแต่ละระดับไว้ซึ่งแต่ละประเทศกำหนดไม่เหมือนกัน
การกำหนดระดับของนักยูโดในประเทศไทยกำหนดไว้ ดังนี้
- รองสายดำ ชั้น 5 สายคาดเอวสีขาว
- รองสายดำ ชั้น 4 สายคาดเอวสีเขียว
- รองสายดำ ชั้น 3 สายคาดเอวสีฟ้า
- รองสายดำ ชั้น 2 สายคาดเอวสีน้ำตาล
- รองสายดำ ชั้น 1 สายคาดเอวสีน้ำตาลปลายดำ
- สายดำ ชั้น 1 สายคาดเอวสีดำ
- สายดำ ชั้น 2 สายคาดเอวสีดำ
- สายดำ ชั้น 3 สายคาดเอวสีดำ
- สายดำ ชั้น 4 สายคาดเอวสีดำ
- สายดำ ชั้น 5 สายคาดเอวสีดำ
- สายดำ ชั้น 6 สายคาดเอวสีขาวสลับแดง
- สายดำ ชั้น 7 สายคาดเอวสีขาวสลับแดง
- สายดำ ชั้น 8 สายคาดเอวสีขาวสลับแดง
- สายดำ ชั้น 9 สายคาดเอวสีแดง
- สายดำ ชั้น 10 สายคาดเอวสีแดง
สถานที่ฝึก (โดโจ)
สถานที่ฝึกยูโดควรมีลักษณะ ดังนี้
- พื้นที่กว้างขวาง: สถานที่ฝึกยูโดควรมีพื้นที่ที่กว้างขวางเพียงพอสำหรับการเคลื่อนไหวและการฝึกซ้อมต่างๆ ของนักเรียน
- การไหลของอากาศ: สถานที่ฝึกยูโดควรมีการถ่ายเทอากาศได้สะดวก เพื่อให้มีอากาศสดชื่นและไม่อึดอัดในระหว่างการฝึกซ้อม
- พื้นปูด้วยเบาะ (Tatami): พื้นที่ที่ใช้ฝึกยูโดควรใช้เบาะ (Tatami) ที่วางอัดแน่นเป็นแผ่นเดียวกัน และมีผ้าคลุมเพื่อความสะอาดและการดึงอีกชั้นหนึ่ง
- ความยืดหยุ่นของเบาะยูโด: เบาะยูโดที่ใช้ฝึกควรมีความยืดหยุ่นที่พอดี ไม่เกินหรือต่ำกว่าความจำเป็น ซึ่งจะช่วยให้พื้นผิวเรียบและการเคลื่อนไหวเป็นไปได้อย่างสะดวกสบาย
- พื้นที่ปูเบาะยูโด: พื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับการปูเบาะยูโดควรเป็นพื้นไม้ที่ยกสูงขึ้น เพื่อให้มีความยืดหยุ่นพอดีและไม่อ่อนหรือแข็งเกินไป นอกจากนี้ ไม่ควรปูเบาะยูโดกับพื้นซีเมนต์หรือพื้นดินที่เดียว เพราะอาจทำให้เกิดการบาดเจ็บได้ง่าย
เครื่องแต่งกาย (ยูโดงิ)
เครื่องแต่งกายในการฝึกยูโดต้องสวมชุดโดยเฉพาะที่เรียกว่า Judoji ซึ่งมีพื้นฐานมาจากการแต่งกายของชาวญี่ปุ่นมีลักษณะ ดังนี้
- เสื้อ: คล้ายเสื้อกิโมโน ถักด้วยด้ายดิบสีขาวหนาแข็งแรงทนทาน แต่อ่อนนิ่มไม่ลื่นมือ สามารถซักได้และใช้ได้นาน ส่วนแขนและลำตัวกว้างหลวม ตัวยาวคลุมก้น แขนยาวประมาณครึ่งแขนท่อนล่างเสื้อยูโดที่ดีต้องมีลักษณะเบาบางแต่แข็งแรง การเบาบางจะช่วยให้การระบายความร้อนในร่างกายดีขึ้น ประเทศญี่ปุ่นนับว่าเป็นประเทศผู้ผลิตเสื้อยูโดที่ดีที่สุดในโลก
- กางเกง: มีลักษณะคล้ายกางเกงจีนเป็นผ้าดิบเช่นกัน ที่เอวมีร้อยเชือกรัดเอว กางเกงต้องหลวมพอสบายยาวประมาณครึ่งขาท่อนล่าง
- สายคาดเอว: เป็นผ้าเย็บซ้อนกันหนาประมาณ 0.5 เซนติเมตร กว้างประมาณ 2 นิ้ว ยาวให้คาดเอวได้ 2 รอบ เหลือชายไว้ผูกเงื่อนพิรอด (Reef Knot) แล้วเหลือชายข้างละ 15 เซนติเมตร สำหรับสายคาดเอวนี้เป็นเครื่องแสดงระดับความสามารถมาตรฐานของนักยูโดด้วย
มารยาทของนักยูโด
วิชายูโดเป็นวิชาแห่งความสุภาพอ่อนโยนและห้องฝึกยูโดนั้นเป็นที่รวมของผู้ที่สนใจต่อความสุภาพ นอกจากนั้นห้องฝึกยูโดยังเป็นที่สำรวมร่างกายและจิตใจ ผู้ที่เข้าไปในห้องฝึกยูโดจึงควรสำรวมกิริยาวาจาให้สุภาพและเหมาะแก่สถานที่ เช่น ไม่พูดเสียงดังเกินไป ไม่กล่าวคำหยาบคาย ไม่ตลกคะนอง ไม่สูบบุหรี่ ไม่สวมรองเท้าขึ้นไปบนเบาะยูโด เป็นต้น ระหว่างการฝึกซ้อม หรือฟังคำบรรยายจากครูอาจารย์ควรฟังด้วยความเคารพ นอกจากนั้นควรเคารพเชื่อฟังคำแนะนำของครูอาจารย์ และปฏิบัติตามระเบียบแบบแผนของห้องฝึกที่กำหนดไว้โดยเคร่งครัด ทั้งนี้ก็เพื่อรักษาไว้ซึ่งระเบียบประเพณีและวัฒนธรรมอันดีงาม กับทั้งเป็นการอบรมนิสัย มารยาทและจิตใจของตนเอง
วิธีการแสดงความเคารพ
การแสดงความเคารพตามหลักการของวิชายูโดมีดังต่อไปนี้
- เมื่อถึงสถานที่ฝึก ต้องแสดงความเคารพสิ่งที่ตั้งบูชาประจำสถานที่ครั้งหนึ่งก่อน
- ก่อนเริ่มฝึก เมื่อขึ้นบนเบาะต้องแสดงความเคารพต่อที่บูชาอีกครั้งหนึ่ง
- ก่อนเริ่มฝึกซ้อมต้องแสดงความเคารพซึ่งกันและกัน และหลังจากยุติการฝึกซ้อมต้องเคารพกันอีกครั้งหนึ่ง
- ก่อนเลิกฝึกต้องแสดงความเคารพที่บูชา
- เมื่อเปลี่ยนเครื่องแต่งตัวแล้ว ก่อนจะกลับต้องแสดงความเคารพที่บูชาอีกครั้งหนึ่ง
วิธีทำความเคารพมี 2 วิธี คือ นั่งและยืน ส่วนวิธีเคลื่อนไหวในการแสดงความเคารพ เช่น ยืนแล้วจะกลับเป็นนั่ง หรือนั่งแล้วกลับยืน ตามปกติใช้ขาขวาเป็นหลักในการทรงตัว การเล่นยูโดยังมีหลักการและศิลปอื่นๆอีกมากมายอาทิ การอบอุ่นร่างกายและศิลปการล้ม การทรงตัวและการเคลื่อนไหว การทุ่ม เป็นต้น